สรุปหนังสือ 5 Levels of Leadership
เร็วๆนี้ได้มาคุยกับคนในทีมเรื่องนี้ แล้วชอบมาก
เลยต้องกลับมาสรุปแนวคิดให้ตัวเองอีกรอบ
จริงๆเคยฟังเรื่องนี้มาแล้วหลายครั้ง
แต่การฟังแต่ละครั้งในช่วงเวลาที่เปลี่ยนไป
ก็ได้แนวคิดที่โตขึ้น มี Case Study จากการทำงานมากขึ้น
พอได้มาทำงานที่เกี่ยวกับคนเยอะๆ
เก่งงานอย่างเดียวไม่พอ ต้องเก่งคนด้วย (ซึ่งไม่ง่าย)
ยิ่งได้เรียนรู้ว่าที่เราเป็นอยู่ยังห่างไกลจากจุดที่อยากเป็น
ค่อยๆพัฒนาไปเรื่อยๆ เดี๋ยววันนึงก็ไปถึง
ขอบคุณเนื้อหาจาก Library Podcast (น้องไลอ้อน)
ที่ช่วยย้ำเตือน และเชพความเป็นผู้นำในตัวมากขึ้น
1) Position ระดับตำแหน่ง
– ผู้นำที่ได้มาด้วยตำแหน่ง ทุกคนสามารถเป็นได้โดยธรรมชาติ เช่น ผู้นำครอบครัว ผู้นำทีมเล็กๆ
– คนยอมทำตามเพราะความจำเป็น/ต้องทำ (they have to)
– ข้อเสียของระดับนี้ คือ มักไม่เห็นคุณค่าของคนอื่น เพราะเขามองว่าตำแหน่ง สำคัญมากกว่าการเพิ่มคุณค่าให้คนอื่นๆ
– ผู้นำที่ยึดติดกับตำแหน่งจะทำให้มีอัตราคนลาออกเยอะ คนเรามักหลีกหนีจากคน ไม่ได้หนีงาน และไม่ได้หนีบริษัท เพราะบรรยากาศองค์กรจะเต็มไปด้วยการเมือง
– วิธีแก้ เลิกใช้หน้าที่ ในการกดดันคนอื่น เลิกผลักดันคนอื่น ด้วยตำแหน่งหน้าที่ + ควรใช้อำนาจที่ได้มาอย่างชาญฉลาด เราจะได้รับความสัมพันธ์ที่ดีขึ้น
2) Permission ระดับการยอมรับ
– ผู้นำที่สร้างความสัมพันธ์ได้
– คนยอมทำตาม เพราะอยากที่จะทำ (they want to)
– ผู้นำโน้มน้าวผู้ตามให้ทำ ด้วยสายสัมพันธ์
– ภาวะผู้นำ หมายถึง ผู้คนต้องเดินหน้าไปไหนสักแห่ง คนเหล่านี้จะไม่หยุดนิ่ง เมื่อไรที่ไม่มีการเดินทาง หรือ การเปลี่ยนแปลง เมื่อนั้น ก็ไม่จำเป็นต้องมีผู้นำ
– ข้อดี คือ ทำงานสนุกขึ้น ทีมประสานงานได้ลื่นไหลขึ้น เปลี่ยนจากเป้าหมายตัวเรา เป็น พวกเรา
– ต้องให้ความจริงใจ การฟังสำคัญมาก ให้ความสำคัญกับคนตรงหน้า มีทัศนคติในการพัฒนาตัวเอง
– ความไว้วางใจ คือ พื้นฐานของการยอมรับ ยิ่งสร้างความไว้วางใจได้มากเท่าไร ความสัมพันธ์ยิ่งแน่นแฟ้น ยิ่งความสัมพันธ์ดีขึ้นเท่าไร ผู้นำยิ่งได้รับการยอมรับจากคนอื่น ให้เป็นผู้นำของพวกเขา
– ข้อเสีย คือ ผู้นำระดับนี้อาจนุ่มนวลเกินไปสำหรับใครบางคน อาจทำให้คนไฟแรงรู้สึกอึดอัดได้ เพราะชอบทำงานให้เสร็จเร็วสุด ไม่ชอบรอคอยใคร ผู้นำแบบนี้ต้องรอคอย ใช้เวลานานในการสร้างสายสัมพันธ์
– วิธีแก้ คือ ต้องเรียนรู้สกิลคนมากขึ้น ผู้นำระดับนี้ต้องรู้จักและชอบตัวเองก่อน ต้องรับผิดชอบตัวเองให้ได้ก่อน
– พื้นฐานคือ การเข้าใจคนอื่น นึกถึงเรื่องระบบให้น้อยลง แล้วคิดเรื่องจิตใจของคนอื่นให้มากขึ้น นึกถึงเรื่องกฎเกณฑ์ให้น้อยลง แล้วนึกถึงขีดความสามารถของคนที่เรากำลังพัฒนาให้มากขึ้น
3) Production ระดับสร้างผลงาน
– ผู้นำที่ทำงานเก่ง สร้างผลงาน
– คนยอมทำตาม เพราะสิ่งที่เราทำมีคุณค่าต่อองค์กร (of what you have done for the organization)
– ข้อดี คือ ถ้าผู้นำมีผลงานที่มากขึ้น ผู้นำจะมีความมั่นใจมากขึ้น มีความน่าเชื่อถือมากขึ้น
– ผู้นำระดับนี้ เหมือนไกด์ทัวร์ มากกว่าแค่เอเย่นต์ทัวร์ ที่สามารถนำพาคนหมู่มากไปที่ต่างๆได้ การกระทำเสียงดังกว่าคำพูด >> สามารถเป็นแบบอย่างได้
– ข้อเสีย คือ คนที่มีผลงานอาจยกระดับอีโก้ขึ้นมาโดยไม่รู้ตัว ผู้นำที่ยิ่งใหญ่มีผลงานแน่นอน แต่คนที่สร้างผลงานอาจไม่ใช่ผู้นำเสมอไป
– ผู้นำคือ การทำอะไรพร้อมคนอื่นและเพื่อคนอื่นด้วยเช่นกัน
– ควรเข้าใจพรสววรค์ของตัวเองก่อนว่ามีส่วนสำคัญต่อวิสัยทัศน์องค์กรอย่างไร ดูว่าลงมือทำ แบ่งงานให้ใครได้อย่างไร
– แสดงวิสัยทัศน์ว่าอยากทำอะไรให้สำเร็จบ้าง การแสดงวิสัยทัศน์คือ พื้นฐานสำคัญของความเป็นผู้นำ การสื่อสารที่คลุมเครือ ก่อให้เกิดการชี้นำที่ไม่ชัดเจน
– จัดลำดับสำคัญในเรื่องที่ได้รับผลตอบแทนสูง อย่าเอาตามความเร่งด่วนอย่างเดียว ต้องบริหารเวลาให้ดีที่สุด
– ต้องเต็มใจและเริ่มต้นสร้างการเปลี่ยนแปลง
– ความสำเร็จทำให้เราตกต่ำมากกว่าความล้มเหลว เราอาจทุ่มเทน้อยลง อาจจะไม่จริงจัง คนมากมายอาจหยุดนิ่งอยู่กับที่ พ่ายแพ้เมื่อได้รับรางวัลและการยอมรับจากคนอื่น
4) People Development ระดับพัฒนาคน
– ผู้นำที่สามารถพัฒนาผู้นำคนอื่นๆได้
– ไม่ได้โฟกัสที่ตัวเองเท่า 3 ระดับแรก
– คนยอมทำตาม ในสิ่งที่เราได้ทำให้พวกเขาเหล่านั้น (of what you have done for them)
– ผู้นำกลุ่มนี้มักทุ่มเทเวลา แรงกาย ความคิดในการพัฒนาคนอื่นให้กลายเป็นผู้นำ
– การค้นหาและวัดศักยภาพในการพัฒนา โดยไม่คำนึงถึงหน้าที่ ตำแหน่งและประสบการณ์ของตัวเอง
– เปลี่ยนจากการทำให้คนอื่นสร้างผลงาน เป็นการพัฒนาศักยภาพของคนเหล่านั้น อาจจะใช้เวลา 20% สร้างผลงานของตัวเอง แต่ต้องใช้เวลา 80% ในการพัฒนาศักยภาพผู้อื่น
– ข้อดี คือ เราจะโดดเด่นเหนือกว่าใครๆ จากการสร้างผู้นำ
– บททดสอบว่าเราเป็นผู้นำจริงๆหรือเปล่า ไม่ได้ดูจากสิ่งที่เกิดขึ้นตอนเราอยู่ แต่ดูจากสิ่งที่เกิดขึ้นตอนที่เราไม่อยู่แล้ว องค์กรควรจะอยู่ได้โดยไม่มีเรา
– การถ่ายโอนความรับผิดชอบให้คนอื่น ไม่ใช่เรื่องง่าย โดยเฉพาะ ถ้าเราเชื่อว่าคนอื่นจะทำสู้เราไม่ได้ แต่ไม่ใช่ข้อแก้ตัวที่จะนำมาอ้าง แล้วเราไม่ยอมถ่ายโอนงานบางอย่างออกไป หมายความว่าเรากำลังโฟกัสที่ตัวเอง เราไม่ได้เรียนรู้ที่จะสร้างผู้นำขึ้นมา เราไม่เต็มใจจะปล่อยงานบางอย่าง เราไม่มีทางเป็นผู้นำระดับนี้ไม่ได้เลย
– ข้อเสียหรือข้อจำกัด คือ มันยาก เราต้องมีวุฒิภาวะและทักษะสูงมากๆ การยึดตัวเองเป็นศูนย์กลางมากๆ ทำให้เราละเลยกับการพัฒนาคน
– เราต้องทุ่มเทความสนใจ 80% ไปที่คนอื่น ช่วยให้พวกเขาได้เติบโต ได้เรียนรู้ และประสบความสำเร็จ
– เราต้องชนะความเห็นแก่ตัวของตัวเอง ต้องยอมรับทัศนคติของคนอื่น
– Zig Ziglar เคยบอกว่า ถ้าเราช่วยให้คนอื่นได้ในสิ่งที่ต้องการ พวกเขาก็จะช่วยให้เราได้สิ่งที่เราต้องการเช่นกัน
5) Pinnacle ระดับสูงสุด
– คนยอมทำตาม เพราะสิ่งที่เราทำ เป็นตัวแทนของบางสิ่ง (of who you are and the quality you have)
– ต้องมีประสบการณ์สูงมากๆ
– พัฒนาให้คนอื่นมาอยู่ในระดับที่ 4 สามารถสร้างสภาวะที่ทุกคนได้รับผลประโยชน์
– บารมีของผู้นำระดับนี้จะขยายไปไกลกว่าแวดวงที่เขาอยู่
– ให้ความสำคัญกับคนอื่นก่อนเสมอ ไม่ว่าเราจะอยู่ตำแหน่งไหนก็ตาม
– ต้องอ่อนน้อมและยอมรับความรู้จากคนอื่น สิ่งที่น่ากลัว คือ กว่าจะมาถึงขั้นนี้ มักจะมาด้วยอีโก้ คิดว่าเรามาถึงเส้นชัยแล้ว >> เราต้องเรียนรู้จากคนที่เก่งกว่า
ถึงตรงนี้ ทุกคนคงมีคำตอบในใจ
ว่าตอนนี้ เราเป็นผู้นำ ในระดับไหน??